ประสบวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ กลับบ้านเกิด ยึดอาชีพเกษตรพอเพียง มีอยู่ มีกิน มีความสุข

ประสบวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ กลับบ้านเกิด ยึดอาชีพเกษตรพอเพียง มีอยู่ มีกิน มีความสุข

เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาตนและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

หลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง คือการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ

คุณเชิดชัย จิณะแสน เกษตรกรชาวศรีสะเกษที่อดีตเคยทำงานในเมืองหลวง แต่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ มีผลทำให้ตัวเองและภรรยาต้องออกจากงาน แล้วเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเพื่อมาปักหลักต่อสู้ชีวิตด้วยการยึดอาชีพเกษตรกรรม

คุณเชิดชัย จิณะแสน

แต่ด้วยความเป็นคนยึดมั่นต่อหลักเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 จึงได้น้อมนำตามแนวทางของพ่อหลวงมาใช้กับการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ ขนาด 9 ไร่ ของบ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 9 ตำบลคำเนียม อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ จนมาวันนี้ได้ปรากฏเป็นศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างภาคภูมิใจ

ภายในระยะเวลา 4-5 ปี คุณเชิดชัย ได้ทุ่มเท มุ่งมั่น แรงกายและใจ ผ่านการลองผิด-ถูก ที่ประกอบขึ้นจากการแสวงหาความรู้ ศึกษาจนทำให้สามารถเนรมิตสถานที่แห่งนี้ที่มีแต่ความแห้งแล้ง กันดาร ให้ค่อยๆ กลับกลายเป็นความอุดมสมบูรณ์เติบโตเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงขนาดเล็กที่ยังไม่เป็นที่รู้จักดีพอ จนเมื่อคุณเชิดชัยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะผู้ประสานงานในกิจกรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักแล้วมีบุคคลต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานเพิ่มขึ้น

การทำเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อให้รวยหรือจน แต่ต้องการให้ทุกคนเกิดความตระหนักถึงความพอเพียง ความพอดีที่ได้รับเท่านั้น ชีวิตก็จะมีความสุขแบบยั่งยืน

แปลงสวนผสมมีทั้งมะละกอ กล้วย และพืชผักครัวเรือน

วัตถุประสงค์การทำเศรษฐกิจพอเพียง โดยไม่ได้มุ่งให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมอย่างเดียว แต่ต้องการเน้นความเป็นศูนย์กลางในทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพ ให้เข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากผลที่เกิดขึ้นจากแนวทางนี้จะช่วยทำให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ภายหลังเสร็จสิ้นจากงานประจำ ช่วยลดค่าใช้จ่าย เสริมรายได้ให้แก่ครัวเรือน สร้างครอบครัวให้มีความสุข มีภูมิคุ้มกัน เป็นศูนย์เรียนรู้เตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุราชการ

ศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง มีพื้นที่ ขนาด 9 ไร่ แบ่งออกเป็น 9 สถานีเรียนรู้ ได้แก่

1. การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ (ปลูกไม้พะยูง)

2. การปลูกพืชผักสวนครัว/พืชไร่

3. การทำนา

4. การเลี้ยงไก่-สัตว์ใหญ่

5. การเลี้ยงปลา

6. การปลูกไม้ผล

7. ที่อยู่อาศัย

8. การจัดภูมิทัศน์/สถานที่พักผ่อน และ

9. ความรู้ทางวิชาการ

เลี้ยงไก่ไข่มีบริโภคทุกวัน แล้วยังขายได้อีก

แปลงทดลองปลูกสับปะรดปัตตาเวีย

ทั้งนี้ แต่ละสถานีจะปลูกฝังความรู้ ตลอดจนอุดมการณ์ รวมถึงแนวทางในการทำเกษตรระดับพื้นฐาน ไปจนถึงแนวใหม่ มุ่งหวังให้เกิดความสำนึก เพิ่มความรู้ทางการเกษตรกรรมตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ขณะที่ถูกกำหนดกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนนั้น เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม

สถานีปลูกพะยูงและพืชผสม

“อย่างสถานีปลูกป่า เน้นให้ความสำคัญในการปลูกป่า โดยเฉพาะต้นพะยูง เพราะถ้ามีป่าเกิดขึ้นความสมบูรณ์ทางธรรมชาติจะกลับคืนมา สำหรับสถานีนี้ปลูกต้นพะยูง จำนวน 500 ต้น แบ่งออกเป็น 2 แห่ง มีอายุการปลูก 2 ปีครึ่ง โดยมีแนวคิดว่า ในเวลา 10 ปี คุณจะมีเงินถึง 500 ล้าน”

สำหรับผู้ทำกิจกรรมอาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกต้องการทำเพื่อไว้เลี้ยงครอบครัวอย่างพอเพียง กับอีกกลุ่มที่ทำเพื่อเป็นรายได้เสริมหรืออาจขยายเป็นรายได้หลักในเวลาต่อมา

คุณเชิดชัย แนะว่าการที่ชาวบ้านหรือผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ในศูนย์จะนำเอาแบบอย่างไปใช้ทันทีไม่ได้ เพราะต้องปรับให้มีความเหมาะสม พร้อมกับต้องพิจารณาว่าในพื้นที่ตัวเองเหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมชนิดใด อย่าเลียนแบบคนอื่น ควรเริ่มต้นทำทีละเล็กน้อยก่อน อย่าใจร้อน ควรมีการปรับพื้นที่ให้เรียบร้อยก่อน มีการจัดวางผังการทำกิจกรรมต่างๆ ไว้ ดูเรื่องน้ำ ดิน ปุ๋ย แล้วควรหาตลาดรองรับไว้ด้วยเผื่อประสบความสำเร็จได้ดีมีปริมาณเพียงพอเกินตามความต้องการจะได้นำไปขายมีรายได้เกิดขึ้น

คุณเชิดชัย ชี้ว่าจากปัญหามูลฐานของพี่น้องเกษตรกรที่วนเวียนอยู่กับความยากจน มีหนี้สิน ปลูกผลผลิตทางการเกษตรอะไรก็ขาดคุณภาพ ขาดมาตรฐาน ขาดการยอมรับทางด้านการตลาด ถึงแม้ปัญหาเหล่านั้นจะได้รับการส่งเสริมให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในพื้นที่แล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนจะยังไม่ตรงเป้าหมายของการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

ในปี 2557 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องเกษตร แล้วปรับแนวคิดที่เปลี่ยนมาให้ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน เป็นที่ยอมรับทางความสามารถในเชิงภูมิปัญญา อีกทั้งยังเป็นคนที่ตกผลึกทางความคิดทางการเกษตรที่อยู่ในท้องถิ่นชุมชนแต่ละแห่ง โดยให้มาเป็นวิทยากรแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมกับถอดบทเรียนสภาพความจริงของปัญหาเพื่อจัดเป็นหลักสูตรแล้วบูรณาการทุกภาคส่วนในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานตามแผนโรดแมปที่กำหนดไว้เพื่อเป็นการเติมเต็มความสมบูรณ์ของศูนย์แต่ละแห่งให้มีมาตรฐานเดียวกัน

พิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน

จึงกำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร (ศพก.) สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานตามระบบส่งเสริมการเกษตร โดยให้เกษตรกรต้นแบบเป็นผู้บริหารศูนย์ เป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรระดับอำเภอเพื่อให้สอดคล้องกับสินค้าทางการเกษตรหลักของอำเภอ โดยกำหนดให้มีอำเภอละ 1 ศูนย์ รวมทั่วประเทศ 882 ศูนย์

พร้อมกับตั้งเป้าว่า ต้องการให้ 882 แห่งนี้ มีศักยภาพพร้อมจะนำพาชาวบ้านไปสู่ความสำเร็จในการสร้างรายได้ ตลอดจนสร้างความเป็นอยู่และความแข็งแรงมากขึ้นอย่างยั่งยืน โดยมอบภารกิจให้ผู้นำท้องถิ่นที่เรียกว่าปราชญ์มาเป็นกลไกขับเคลื่อนการทำกิจกรรมด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนแนวทางที่มีระบบแบบแผนไปสู่ชาวบ้านในแต่ละชุมชน

จนเมื่อปี 2559 คุณเชิดชัย ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้นำเกษตรของจังหวัดศรีสะเกษหรือประธานเครือข่าย จากจำนวน 22 ศูนย์ ของจังหวัด ต่อจากนั้นยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธาน เขต 7 ในพื้นที่ภาคอีสาน แล้วในที่สุดได้รับเลือกให้เป็นประธานเครือข่าย (ศพก.) ระดับประเทศ โดยมีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนศูนย์ทั่วประเทศให้บรรลุวัตถุประสงค์เป้าหมายตามกรอบแนวทางที่ร่วมวางแผนกับรัฐบาล นอกจากนั้น ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็น คณะกรรมการนโยบายฯ กระทรวงเกษตรฯ เพื่อเป็นตัวแทนภาคประชาชนที่จะสะท้อนปัญหาที่แท้จริงสู่ภาครัฐ

รองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง) เดินทางไปให้กำลังใจการทำงานแก่ อ.เชิดชัย จิณะแสน

อีกทั้งต้องมีหน้าที่เชื่อมโยงทุกศูนย์ทั่วประเทศทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือศูนย์ที่ได้รับความเดือดร้อน ขาดความรู้ บุคลากร หรือเทคโนโลยีเครื่องมืออุปกรณ์ เรียกได้ว่าต้องประสานในระดับบนลงล่าง และล่างขึ้นบนไปพร้อมกัน “จากช่วงเวลา 16 ปี ที่ผ่านมา มีความตั้งใจว่า ต่อจากนี้จะทำให้ศูนย์แห่งนี้เป็นเสมือนสถาบันแห่งการเรียนรู้ตามโครงการพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ตลอดจนเพื่อเป็นศูนย์กลางเพื่อการเรียนรู้ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เป็น ศพก. ที่ได้มาตรฐานที่สุด ตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องเกษตรกรได้ดีที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านเปลี่ยนพฤติกรรม ตลอดจนทัศนคติกับการทำเกษตรกรรมเสียใหม่ ให้เกิดความทันยุคสมัยที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วย” คุณเชิดชัย กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียด หรือสนใจเข้าศึกษาดูงานเป็นหมู่คณะ ติดต่อได้ที่ คุณเชิดชัย จิณะแสนโทรศัพท์ (089) 579-2999 หรือ http://www.ศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง.com

ขอขอบคุณ : สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ที่อำนวยความสะดวกในครั้งนี้

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_21679

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 มิ.ย. 60
วันที่โพสต์: 19/06/2560 เวลา 10:25:52 ดูภาพสไลด์โชว์ ประสบวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ กลับบ้านเกิด ยึดอาชีพเกษตรพอเพียง มีอยู่ มีกิน มีความสุข