ปลูกกล้วยป่าแซมยางพารา ตัดใบขาย เสริมรายได้ มีกินมีใช้ต่อเนื่อง

ปลูกกล้วยป่าแซมยางพารา ตัดใบขาย เสริมรายได้ มีกินมีใช้ต่อเนื่อง

ภายในสวนยางอ่อนก่อนเปิดกรีด สามารถปลูกพืชอื่นได้หลากหลายชนิดที่เรียกว่าพืชแซมยางและพืชร่วมยาง ซึ่งชาวสวนยางขนาดเล็กจะคุ้นเคยกับการปลูกข้าวไร่ พืชไร่ หรือพืชผักในสวนยางเพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือจำหน่ายเพื่อเสริมรายได้ในครอบครัว พืชแซมยางและพืชร่วมยางควรจะเป็นพืชที่ไม่รบกวนต่อการเจริญเติบโตของต้นยางหรือทำให้ผลผลิตของต้นยางลดลง โดยปลูกระหว่างแถวยางในขณะที่ต้นยางมีอายุไม่เกิน 3 ปี ส่วนพืชร่วมยางคือ พืชที่ปลูกระหว่างแถวยางโดยอาศัยร่มเงาของต้นยางเพื่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต สามารถปลูกได้ตั้งแต่ต้นยางมีอายุ 3 ปีขึ้นไป

ดังในพื้นที่ภาคตะวันออกภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง นำแนวทางดังกล่าวมาปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรทฤษฎีใหม่ที่จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกยางพารา นำกล้วยป่ามาปลูกเป็นพืชแซม

เช่น กรณีของแปลงส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ของ คุณละมัย สนวัตร์ เกษตรกร หมู่ที่ 6 ตำบลหนองไร่ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง

คุณชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า สถานที่แห่งนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น้อมนำหลักการการทำเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยให้การส่งเสริมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้แนวทางการคำนึงถึงภูมิปัญญาท้คองถิ่นและภูมิสังคมตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานให้ส่วนงานต่างๆ เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอภายใต้การสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเกษตร เป็นหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการพัฒนาเพื่อการกินดีอยู่ดีของเกษตรกรนำมาปฏิบัติในการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรเพื่อการประกอบอาชีพและดำรงชีวิต เช่น การนำกล้วยป่ามาปลูกเป็นพืชแซมยางพารา ของเกษตรกรทฤษฎีใหม่แปลงของคุณละมัย ที่ปัจจุบันประสบความสำเร็จสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากกล้วยป่ามาเป็นรายได้ประจำวันมีกินมีใช้อย่างพอเพียง

สำหรับกล้วยป่านั้นเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นเทียมสูง 2.5-3.5 เมตร กาบลำต้นมีนวลเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนาน ขนาดกว้าง 40-60 เซนติเมตร ยาว 2-3 เมตร ชูขึ้นค่อนข้างตรง ใบประดับรูปไข่กว้างค่อนข้างยาว ปลายแหลม เป็นกล้วยที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งปี โดยหยวกกล้วยนำมาปรุงอาหารได้สารพัด และอร่อยกว่าหยวกกล้วยบ้านชนิดอื่นๆ เพราะจะนิ่มและหวานกว่า โดยแกะเอาเปลือกที่แข็งออกให้หมด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาแกงใส่ไก่ กระดูกหมู หรือปลาแห้ง ยำใส่ปลากระป๋อง กินกับน้ำพริกได้ทั้งดิบและสุก หรือนำมาตำกับมดแดง ส่วนหัวปลีนำมาชุบแป้งทอด ห่อนึ่งใส่เนื้อหมู หรือยำกับเนื้อไก่

นอกจากนี้ กาบต้นแห้งยังสามารถนำไปขายเพื่อทำกระดาษสา ส่วนใบใช้ห่อของ โดยเกษตรกรจะทยอยตัดใบตองแบบหมุนเวียนกันไป โดยตัดออกขายทุกๆ 15 วัน กล้วยป่า 1 ต้น จะตัดใบตองได้ 2 ยอด พื้นที่ปลูก 1 ไร่ ก็จะได้ใบตอง จำนวน 500 ยอด และมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงแปลงปลูก

ปัจจุบันพบว่าใบตองของไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มยุโรป อเมริกา และเอเชีย เนื่องจากมีร้านอาหารไทยอยู่เป็นจำนวนมากในกลุ่มประเทศเหล่านี้ และนิยมสั่งซื้อใบตองจากประเทศไทยไปใช้ประดับตกแต่งจานอาหารและห่อขนมไทย

ราคาใบตองของไทยจึงขายได้ราคาในต่างประเทศ เฉลี่ยยอดละ 100 บาท เพราะมีคุณภาพดี ในเรื่องความสด ใบสวย เหนียวและหนา เมื่อนำไปใช้จะไม่กรอบหรือแตกง่ายเหมือนกับใบตองชนิดอื่น เกษตรกรที่ปลูกมีรายได้ต่อเดือนเป็น 10,000 บาท สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้เลยทีเดียว

นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางของการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรทฤษฎีใหม่และใช้วิธีเกษตรผสมผสาน เกื้อกูลซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี ได้ใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาภายใต้ความเหมาะสมของภูมิสังคมมาเป็นแนวทางในการทำกิน โดยเฉพาะการนำกล้วยป่ามาปลูกเพื่อจำหน่ายใบตองและปลีกล้วย นับเป็นแนวทางที่เหมาะสมเป็นอย่างดียิ่งด้วยกล้วยป่าเป็นพืชที่มีอยู่ตามธรรมชาติของประเทศไทย และขยายพันธุ์ได้ง่ายอีกต่างหาก นับว่าเป็นการส่งเสริมตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ผลเป็นอย่างดียิ่ง

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_20930

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 9 มิ.ย.60
วันที่โพสต์: 9/06/2560 เวลา 09:28:23 ดูภาพสไลด์โชว์ ปลูกกล้วยป่าแซมยางพารา ตัดใบขาย เสริมรายได้ มีกินมีใช้ต่อเนื่อง