3 ข้อห่วงใย คนไทยยุค 4.0 ไม่รู้กฎหมาย-(อ)ยากจน-ผลไม้แพง

3 ข้อห่วงใย คนไทยยุค 4.0 ไม่รู้กฎหมาย-(อ)ยากจน-ผลไม้แพง

คอลัมน์ ชั้น 5ประชาชาติ โดย ขุนพินิจ

การดำรงชีวิตทุกวันนี้ซับซ้อนมากขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วจากเหตุการณ์รอบตัวและต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันทั้งโลกในเกือบทุกด้านแต่ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังเปลี่ยนไม่ทันโลก และไม่อาจต้านทานการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งโลกร้อน โลกเย็น สงครามการค้า การก่อการร้ายที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็ไม่ได้หมายถึงว่า ทุกคนจะต้องเปลี่ยนตัวเองให้ทันโลกไปซะทุกเรื่อง แต่ทำอย่างไรที่เราจะเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นและมีสติ รู้เท่าทันกับปัจจัยแวดล้อม หรือกฎกติกาใหม่ ๆ ที่ออกมา

ภาวะตอนนี้สิ่งที่ห่วงใยและอยากให้คนไทยและผู้บริหารประเทศใส่ใจใน 3 เรื่อง คือ 1.คนไทยไม่รู้กฎหมาย โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไปแล้วกว่า 150 ฉบับ

นี่ยังไม่นับรวมกฎกระทรวง/ระเบียบ/ประกาศต่าง ๆ อีกหลายสิบฉบับที่ออกมาไม่ขาดสาย และต้องรอดูว่าผลงานรัฐบาลครบรอบ 3 ปีในวันที่ 22 พ.ค. 2560 นี้ จะมีกฎหมายคลอดออกมาแล้วทั้งหมดกี่ฉบับ เพราะคาดว่าอาจจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใหม่ให้ได้ถึง 400 ฉบับ ว่ากันตามจริงก็คือ ไม่รู้กฎหมายเพราะการอ่านข้อกฎหมายต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ยากในการทำความเข้าใจ ฉะนั้น การเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาจะต้องเข้มข้นมากกว่านี้ เพราะหากไม่รู้กฎหมายและยังไม่เคารพกฎหมายเข้าไปอีก สังคมย่อมไม่มีความสงบสุข

อีกทั้งความไม่รู้กฎหมายของประชาชนก็กลายเป็นจุดอ่อน เกิดความไม่เป็นธรรม มักจะตกเป็นเหยื่อ ถูกหลอก ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่ายจากพวกหัวหมอ พวกอาชญากรเศรษฐกิจ อาทิ แก๊งทวงหนี้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แชร์ลูกโซ่ การรุกป่า การค้ามนุษย์ ฉะนั้น รัฐจะต้องหาวิธีการทำให้ประชาชนได้รับรู้ ได้เข้าใจข้อกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียต่างๆ ให้ทั่วถึงจริงๆ ไม่ใช่แค่บอกว่าให้ไปเปิดอ่านในอินเทอร์เน็ตหรือจัดสัมมนาไปนั่งฟัง เข้าหูซ้ายทะลุหูขวากระมัง เพราะไม่เช่นนั้น การปฏิรูปกฎหมายหลายร้อยฉบับที่ว่าล้าสมัยคร่ำครึ ก็จะไร้ประโยชน์ ไม่สามารถบังคับใช้ได้และเกิดประโยชน์จริง ซึ่งยังจะมีพวกหาช่องเลี่ยงกฎหมายอีกด้วย

ส่วนเรื่องที่ 2.นโยบายอุ้มคนมีรายได้น้อย นับว่าเป็นรัฐสวัสดิการที่ดีในหลักการ แต่ในทางปฏิบัติ การคัดกรองคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อยนั้นต้องดูและกลั่นกรองกันให้ถ้วนถี่ เพราะมีบางคนซุกปกปิดข้อมูลรายได้/ทรัพย์สินเพื่อรอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ กลายเป็นพวก “อยากจน” มากกว่ายากจนจริงๆ พวกอยากจนเหล่านั้น นอกจากจะเอาเปรียบคนอื่นแล้ว ก็มักจะไม่ค่อยขยัน ไม่หางานทำให้มั่นคงเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว

อีกเรื่องก็คือ คนไทยกินผลไม้แพง แต่ราคาหน้าสวน หรือคนปลูกก็ยังถูก “กดราคา” รับซื้อเหมือนเดิม ผลไม้ที่ฮอตสุดในฤดูกาลนี้ก็คือ ทุเรียน ตอนนี้ราคาขายหน้าสวนก็ไม่ต่ำกว่ากิโลละ 100 บาท ราคาขายปลีกทุเรียนหมอนทองลูกย่อม ๆ ก็ปาเข้าไป 400-500 บาทแล้ว นี่ยังไม่นับรวมทุเรียนพื้นเมือง เช่น พันธุ์หลง-หลินจากอุตรดิตถ์ ราคา 300-500 บาท/กก. ส่วนทุเรียนก้านยาวเมืองนนท์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ราคาพุ่งลูกละ 15,000-25,000 บาท เป็นเสมือนของวิเศษไปแล้ว คนเดินดินเอื้อมไม่ถึง คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน ส่วนใหญ่มักซื้อเป็นของฝากผู้หลักผู้ใหญ่ หรือทุเรียนทอดกรอบก็ตกโลละ 600-800 บาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม คำว่า “ของแพง-ไม่แพง” นั้น ตัดสินกันที่ความรู้สึกพึงพอใจที่จะจ่าย และเงินในกระเป๋า เพราะถ้าเป็นคนที่มีเงินเยอะ ก็จะบอกว่าไม่แพง แต่คนหาเช้ากินค่ำ คนกินเงินเดือน เจอราคาขนาดนี้ก็ถือว่าโคตรแพง ยุคนี้กินข้าวราดแกง หรือกินก๋วยเตี๋ยว 1 ชามก็แทบจะไม่อิ่มแล้ว ครั้นจะแบ่งเงินไปกินผลไม้เพิ่มวิตามินให้ร่างกายบ้างก็คงไม่ไหว

ช่วงหลังนี้ผลผลิตทุเรียน มังคุด ลำไย ส่งออกไปเมืองจีนมากถึง 70-80% เมื่อซัพพลายหายไปขนานี้ ราคาขายในประเทศจึงไม่เคยตกต่ำอีกเลย ข้อดีคือ ชาวสวนอาจขายได้ราคาดีขึ้น เพราะล้งจีนมาเหมาไปหมด แต่ในฝั่งผู้บริโภคหลายสิบล้านคนนั้น กำลังเจอภาวะผลไม้ราคาแพง ต่อไปคนไทยก็หาผลไม้คุณภาพดี ราคาย่อมเยาได้ยากขึ้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_18871

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 16 พ.ค. 60
วันที่โพสต์: 16/05/2560 เวลา 10:46:33 ดูภาพสไลด์โชว์ 3 ข้อห่วงใย คนไทยยุค 4.0 ไม่รู้กฎหมาย-(อ)ยากจน-ผลไม้แพง