เกษตรกรจะปรับตัวเข้าสู่สวนยาง 4.0 ได้อย่างไร

เครื่องกรีดยาง

ในฉบับนี้ ขอเก็บตกการจัดงาน “วันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2560” อีกครั้งหนึ่ง เพราะแต่ละโซนมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยเฉพาะเวทีเสวนา ที่อัดแน่นด้วยสาระความรู้ เพื่อถ่ายทอดแนวทางการเพิ่มผลผลิตและรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของการจัดงานครั้งนี้ ก็คือ ช่วง Special Talk ฉลองครบรอบ 30 ปี ของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้จัดเวทีเสวนา ในหัวข้อ “เกษตรกรจะปรับตัวเข้าสู่สวนยาง 4.0 ได้อย่างไร” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย คุณเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คุณศิริชัย ศรีสุธรรม บริษัท เซาท์แลนด์รีซอร์ซ จำกัด และ คุณสงกรานต์ คำพิไสย์ เกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬ

มาตรการเชิงรุก “ไทยแลนด์ ยุค 4.0”

คุณเชาว์ รองผู้อำนวยการ กยท. กล่าวว่า เมืองไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ผลิตสินค้าเกษตรใช้ในประเทศเป็นหลัก (ไทยแลนด์ ยุค 1.0) เมื่อนำสินค้าเกษตรมาแปรรูปสู่อุตสาหกรรมเบา (ไทยแลนด์ ยุค 2.0) เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ เมื่อไทยพัฒนาสู่ภาคอุตสาหกรรมหนัก ผลิตสินค้าป้อนตลาดส่งออก (ไทยแลนด์ ยุค 3.0) เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็กกล้า รถยนต์ ฯลฯ

คุณเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการ กยท.

ปัจจุบัน ทั่วโลกตั้งเป้าพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุค 4.0 โดยใช้นวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางพารามากเป็น อันดับ 1 ของโลก ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา โดย ร้อยละ 86 ส่งออกยางในรูปวัตถุดิบประเภทยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง STR หรือน้ำยางข้น จำนวน 3.7 ล้านตัน ต่อปี สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.7 แสนล้านบาท ต่อปี และแปรรูปยางพาราสำหรับใช้ภายในประเทศ แค่ร้อยละ 14 คิดเป็นมูลค่า 2.3 แสนล้านบาท ต่อปี ถือว่าสร้างมูลค่าทางการค้าสูงกว่าการส่งวัตถุดิบไปขายต่างประเทศเสียอีก

รัฐบาลเร่งปรับปรุงโครงสร้างยางพาราของไทยเพื่อก้าวเข้าสู่ยุค “นโยบายไทยแลนด์ 4.0” อย่างชัดเจน ตั้งแต่ ปี 2559 เป็นต้นมา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยมุ่งส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เช่น โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 1 แสนตัน โดยมอบหมายให้ กยท. เปิดจุดรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรในราคาชี้นำตลาด ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพ ชั้น 3 รับซื้อในราคา 45 บาท ต่อกิโลกรัม หลังจากเปิดซื้อยางได้แค่ 2,892 ตัน ก็ฉุดราคายางภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากเดิม กิโลกรัมละ 33 บาท เป็น 50 กว่าบาท

ในปี 2560 ภาครัฐเร่งสานต่อโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยสำรวจความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ พบว่ามีปริมาณความต้องการใช้ยางกว่า 5,800 ตัน เช่น โครงการล้อยางประชารัฐ

เกษตรกรจะปรับตัวเข้าสู่สวนยาง 4.0 ได้อย่างไร

จังหวัดบึงกาฬ ถือว่าโชคดี เพราะเกิดความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน เครือมติชน องค์กรต่างประเทศ และรัฐบาลไทย ในการเดินหน้าจัดงาน “วันยางพาราจังหวัดบึงกาฬ” อย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 5 ตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของจังหวัดบึงกาฬ ในวันนี้จังหวัดบึงกาฬได้เปรียบในเชิงปริมาณ เพราะมีเนื้อที่ปลูกยางพาราทั้งจังหวัด ประมาณ 1.2 ล้านไร่ ถือว่ามีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดในภาคอีสาน และมากกว่าบางจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดบึงกาฬได้พัฒนายางพาราเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มตัว เพราะได้รับงบฯ สนับสนุนจากรัฐบาล 193 ล้านบาท สำหรับจัดสร้างโรงงานผลิตหมอนยางพารา เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรชาวสวนยาง เข้าสู่กระบวนการแปรรูปหมอนยางและผลิตภัณฑ์ยางชนิดต่างๆ และจับมือกับเอกชนต่างชาติ เพื่อพัฒนาตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง นับเป็นความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องเกษตรกร เอกชน รัฐบาล ในการผลักดันโครงการประชารัฐด้านยางพาราได้ก้าวหน้ากว่าใคร นอกจากนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEs BANK) ประกาศให้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนในกิจการยางพาราแก่สถาบันเกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1 และหากลงทุนซื้อเครื่องจักร คิดดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ แค่ร้อยละ 4 เท่านั้น เพื่อช่วยให้กิจการแปรรูปยางพาราของสถาบันเกษตรกรเติบโตได้อย่างเข้มแข็งในอนาคต

กยท. เตรียมจัดทำโครงการ “ล้อยางประชารัฐ” โดยเรียนลัดเรื่องการใช้เทคโนโลยีการผลิตยางล้อรถยนต์ของภาคเอกชนไทย คือ บริษัท ดีสโตน โดย กยท. ทำหน้าที่รวบรวมยางพาราที่ได้มาตรฐาน จีเอ็มพี จากสถาบันเกษตรกร ให้ดีสโตนนำไปแปรรูปเป็นล้อยางรถยนต์ประเภทต่างๆ เช่น รถบรรทุกสิบล้อ รถบรรทุกหกล้อ รถกระบะ รวมทั้งรถจักรยานยนต์สำหรับจำหน่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐทั่วประเทศผ่านระบบกลไกของ กยท. แต่ละจังหวัด และจัดโครงการนำร่องยางล้อ จับมือกับสหกรณ์แท็กซี่ จำหน่ายยางล้อราคาถูก เพียงเส้นละพันกว่าบาท เมื่อเทียบกับราคาท้องตลาดที่ขายในราคาเส้นละสองพันบาท

นอกจากนี้ กยท. วางแผนส่งเสริมให้สหกรณ์ชาวสวนยางหลายแห่ง ในพื้นที่ภาคใต้ เช่น สตูล ปัตตานี ผลิตยางแผ่นปูพื้น ที่ได้มาตรฐาน มอก. ออกจำหน่ายให้กับหน่วยงานภาครัฐ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น

เกษตรกรตื่นตัวเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่

ด้าน คุณสงกรานต์ ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬ ได้กล่าวว่า ในอดีตเกษตรกรชาวสวนยางอาศัยการเรียนรู้เรื่องยางพาราจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กยท. แต่ทุกวันนี้ เกษตรกรอาศัยการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน เช่นเดียวกับคณะกรรมการกองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จะเช็กราคาประมูลยางในตลาดกลางฯ จากระบบไลน์ หรือ ยูทูบ บนมือถือในแต่ละวัน

คุณสงกรานต์ คำพิไสย์

เดิมทีเกษตรกรปลูกยางพันธุ์ RRIM 600 และยางพันธุ์ RRIT 251 ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ กยท. เพราะต้นยางทั้งสองสายพันธุ์ ปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีกับสภาพพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่วันนี้เกษตรกรชาวสวนยางหลายคนนิยมนำกล้ายางพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามาทดลองปลูกในแปลงสวนยางของตัวเอง เช่น กล้ายางพันธุ์ลุงขำ กล้ายางพันธุ์ 600 ยอดดำ ของมาเลเซีย เข้ามาทดลองปลูก เช่นเดียวกับเรื่องปุ๋ย จากเดิมที่เคยใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทุกวันนี้เจอปัญหาปุ๋ยแพง เกษตรกรก็เรียนรู้จากโฆษณาและทดลองซื้อปุ๋ยสูตรผสมมาทดลองใช้แทน

สมัยก่อนราคายางดี 60-70 บาท ต่อกิโลกรัม สามารถแบ่งสัดส่วนรายได้ระหว่างคนกรีดยางและเจ้าของสวนยาง ในอัตรา 40:60 ระยะหลังเจอปัญหาราคายางตกต่ำ ก็ปรับสัดส่วนรายได้กันใหม่ เป็น 50:50 ค่าปุ๋ย ค่ายา เจ้าของสวนยางเป็นผู้รับผิดชอบเหมือนเดิม แต่ในวันนี้ ขี้ยางขายได้แค่กิโลกรัมละ 12-13 บาท รายได้น้อยลง คนที่เคยรับจ้างกรีดยาง ก็เลิกอาชีพกันไปหมด เพราะรายได้น้อย ไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงดูครอบครัว เจ้าของสวนต้องมาลงมือกรีดยางเอง จึงอยากได้นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยทำงานกรีดยาง

เครื่องกรีดยาง

การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬในปีนี้ พอมีข่าวโฆษณาว่า มีเครื่องกรีดยางจากจีนมาโชว์ในงานวันยางพาราบึงกาฬ เพื่อนเกษตรกรก็โทร.ถามผมกันใหญ่ เพราะสนใจอยากซื้อเครื่องกรีดยางไปใช้ในสวนยางของตัวเอง แม้เครื่องกรีดยางจะมีราคาสูงถึงตัวละ 4,000-5,000 บาท แต่เกษตรกรชาวสวนยางก็พร้อมที่จะลงทุน เพราะคิดว่าลงทุนแพงหน่อย แต่คุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้รับ

เกษตรกรหลายรายยังห่วงกังวลกับปัญหาราคายางพารา ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลประกาศนโยบายผลักดันการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น จาก 16% เป็น 20% และเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 5% ผมมั่นใจว่า ราคายางภายในประเทศของไทยจะปรับตัวดีขึ้นอย่างแน่นอน

ปัญหายางปลอม ทำลายความเชื่อมั่นตลาด

ด้าน คุณศิริชัย ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนผู้ค้ายางพารา กล่าวว่า บริษัท เซาท์แลนด์ฯ มีฐานการผลิตอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันได้ขยายกิจการมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยางแท่ง ที่จังหวัดบึงกาฬ เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตยางพาราขนาดใหญ่สุดในพื้นที่ภาคอีสาน โดยทั่วไปต้นยางที่ปลูกในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อต้นยางอายุ 5-6 ปี ก็สามารถเปิดกรีดยางได้แล้ว แต่สวนยางในพื้นที่ภาคอีสาน ต้องปล่อยให้ต้นยางมีอายุสัก 8-9 ปีก่อน จึงเริ่มเปิดกรีดยางได้ ผลิตภัณฑ์ยางก้อนถ้วยของจังหวัดบึงกาฬถือว่า เนื้อยางสะอาดและมีคุณภาพดี แต่คุณสมบัติเนื้อยางยังไม่ดีเท่ากับต้นยางที่ปลูกในภาคใต้

คุณศิริชัย ศรีสุธรรม

โดยทั่วไป เกษตรกรนิยมใส่ถุงมือยางสำหรับเก็บยางก้อนถ้วย ระยะหลังทางโรงงานตรวจสอบพบว่า มีเศษถุงมือยางปนเข้ามาในยางก้อนถ้วย ทำให้ไม่สามารถส่งออกยางล็อตนั้นได้ เพราะถุงมือยาง ยางรัดของ ฯลฯ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ยางตาย ที่ผ่านการแปรรูปมาแล้ว ไม่สามารถผสมในยางแท่งสำหรับผลิตยางล้อรถยนต์ เพราะจะทำให้ยางล้อระเบิดได้

ยางล้อดีสโตน

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทางโรงงานไม่ค่อยเจอปัญหาเศษถุงมือยางปนในยางก้อนถ้วย แต่ระยะหลังเจอปัญหานี้บ่อยมาก ทางโรงงานจึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร ระมัดระวังอย่าให้เศษถุงมือยางปะปนในยางก้อนถ้วยอย่างเด็ดขาด หากยางไม่ได้มาตรฐาน ผู้นำเข้าปฏิเสธคำสั่งซื้อยางจากเมืองไทย ทำให้ยางไทยเสียชื่อเสียงแล้ว ท้ายสุดแล้ว ตัวเกษตรกรชาวสวนยางเองก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะขายยางไม่ได้ ปัจจุบันทางโรงงานลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพปลอมปนในจังหวัดบึงกาฬ เพื่อคัดยางเนื้อสะอาดให้ส่งออกได้เพิ่มขึ้น

สมัยก่อน โรงงานผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ เช่น บริดจสโตน มิชลิน ฯลฯ รับซื้อยางแผ่นรมควัน ประมาณ 70% และยางแท่ง 30% เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ แต่ทุกวันนี้ความต้องการของตลาดเปลี่ยนไป ลูกค้าต้องการซื้อยางแท่งเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 70% และซื้อยางแผ่นรมควันลดลงเหลือแค่ 30% เพราะเทคโนโลยีการผลิตยางแท่งสามารถคัดกรองยางสกปรกให้มีคุณภาพดี สะอาดขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางแท่ง มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_14562

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 20 มี.ค.60
วันที่โพสต์: 20/03/2560 เวลา 09:47:24 ดูภาพสไลด์โชว์ เกษตรกรจะปรับตัวเข้าสู่สวนยาง 4.0 ได้อย่างไร