ข้าวรัชมงคล พระราชดำริเพื่อช่วยเหลือชาวนา

ข้าวรัชมงคล พระราชดำริเพื่อช่วยเหลือชาวนา

สภาพพื้นที่ประเทศไทยมีความเหมาะสมในการปลูกข้าวได้คุณภาพดี ผลผลิตข้าวเปลือกนำไปแปรรูปหรือสีเป็นข้าวสารขาว ข้าวกล้อง หรือข้าวอื่นๆ จำหน่ายให้ผู้บริโภค เกษตรกรหรือชาวนาจะมีรายได้จากการขายข้าวเปลือก บางปีข้าวเปลือกขายได้ราคาดีหรือบางปีขายได้ต่ำกว่าทุน วิถีการดำรงชีพของชาวนาจึงไม่มั่นคงเหมือนกับอาชีพอื่น

ข้าวรัชมงคล พระราชดำริเพื่อช่วยเหลือชาวนา เป็นทางเลือกการพัฒนาการปลูกและผลิตข้าวให้ได้คุณภาพ และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ชาวนายกระดับรายได้เพื่อนำไปสู่วิถีพอเพียงที่มั่นคง

อย่างรถที่นั่งมา…สร้างด้วยฝีมือคนไทย…มีจำนวนสองร้อยกว่าคัน ก็เลยทำให้เห็นว่าน่าจะหาทางที่จะช่วยเหลือคนที่อยู่ในโรงงานนี้..แล้วก็ตั้งใจที่จะสนับสนุนให้เขาตั้งโรงสีเหมือนโรงสีในสวนจิตรฯ…

ข้าวในโรงสีนี้เป็นข้าวที่ซื้อจากเกษตรกรโดยตรง โดยให้ราคาที่เหมาะสม เกษตรกรก็มีความสุขเพราะขายข้าวในราคาที่เหมาะสม และผู้บริโภคก็ซื้อข้าวได้ในราคาถูก เพราะว่าไม่ต้องมีการขนส่งมากเกินไป ไม่ต้องมีคนกลางมากเกินไป ตกลงทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคก็มีความสุข…

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

วันที่ 4 ธันวาคม 2540

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว

คุณอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เล่าให้ฟังว่า สภาพพื้นที่ประเทศไทยมีความเหมาะสมต่อการปลูกข้าวได้คุณภาพดี อาชีพการทำนาของเกษตรกรหรือชาวนาเน้นการปลูกและผลิตข้าวเพื่อผู้บริโภคทั้งประเทศ การปลูกต้องมีการเตรียมแปลงนาที่ดี เลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวดีมีคุณภาพมาปลูก ใช้ปุ๋ยถูกสูตรถูกเวลาและอัตราส่วนเพื่อลดต้นทุนการผลิต มั่นตรวจแปลงเสมอ เมื่อปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาที่ดีก็จะได้ผลผลิตข้าวคุณภาพที่ตลาดผู้บริโภคต้องการ

พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการแก้ปัญหาและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาปลูกข้าวให้กับพสกนิกรของพระองค์ ที่ก่อให้เกิดโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาข้าว อันนำไปสู่การบำบัดความทุกข์ยาก และเพื่อยกระดับรายได้ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวนาให้มั่นคง

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2504 ภายในสวนจิตรลดา ด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยมุ่งเน้นในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การศึกษาวิจัยการแปรรูปผลผลิตการเกษตรภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ การนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยผ่านกระบวนการผลิตที่ง่ายแต่มีประสิทธิภาพและประหยัด

ผู้บริโภคสนใจเลือกซื้อข้าวรัชมงคลไปบริโภค

มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อจัดตั้งมูลนิธิข้าวไทย ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2543 เพื่อรักษามรดกวัฒนธรรมข้าวไทย เผยแพร่ความรู้เรื่องข้าว สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาข้าว ตลอดจนสนับสนุนนโยบายต่างๆ เพื่อความคล่องตัวในวงการข้าวไทย และทรงรับมูลนิธิข้าวไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2544

คุณญาดาวดี บัวเรือง เจ้าหน้าที่ด้านตลาด กับ ข้าวรัชมงคลคุณภาพ

คุณญาดาวดี บัวเรือง เจ้าหน้าที่ด้านตลาด บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด เล่าให้ฟังว่า บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด ก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแก่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ให้ก่อตั้งโรงสีตามแบบอย่างโรงสีจิตรลดาเพื่อช่วยเหลือชาวนา รับซื้อข้าวเปลือกราคาเหมาะสมนำมาสีและจำหน่ายในราคาเหมาะสมแก่ผู้บริโภค ผลผลิตพลอยได้จากการสีข้าวจำหน่ายให้แก่ผู้เลี้ยงสัตว์ในราคาต่ำ

บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด เปิดดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2542 เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ในวันที่ 9 กันยายน 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเป็นประธานประกอบพิธีดำเนินการโรงสีข้าว การดำเนินงานได้ยึดปฏิบัติตามแนวทางของโรงสีสวนจิตรลดา รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรโดยตรงมาสี และจำหน่ายในราคาเหมาะสมโดยมิได้มุ่งหวังการค้าเพื่อกำไร แต่ให้คุ้มทุน และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างพอเพียง

ผลผลิตข้าวเปลือกที่เตรียมนำมาแปรรูปเป็นข้าวรัชมงคล

โรงสีข้าวมีพื้นที่ดำเนินการ 5 ไร่ ผลิตข้าวสารได้ 600 ตัน ต่อเดือน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวโตโยต้าได้มีส่วนร่วมในการดำเนินตามรอยพระยุคลบาท โดยมีพระราชดำรัสให้จัดสร้างโรงสีข้าวขึ้น พร้อมทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 6 แสนบาท เพื่อเป็นทุนเริ่มต้นในการก่อตั้ง โดยมีพระราชประสงค์เพื่อการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรหรือชาวนาในท้องถิ่นให้ดีขึ้น ด้วยการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา และสหกรณ์การเกษตรในราคายุติธรรม พร้อมจำหน่ายข้าวสารในราคาเหมาะสมโดยมิได้หวังผลกำไรจากการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังได้นำ แกลบ รำ และปลายข้าว จำหน่ายให้กับเกษตรกรในราคาย่อมเยา เพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ หรือทำปุ๋ยใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งนับได้ว่าเป็นวงจร “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามแนวพระราชดำริ

การดำเนินงานโรงสีข้าวนี้รับผิดชอบโดย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ชมรมผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า และชมรมความร่วมมือผู้ผลิตชิ้นส่วนโตโยต้า พร้อมกับได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากทีมที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ข้าราชการจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ สหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และตัวแทนจำหน่ายผู้ประกอบธุรกิจโรงสีข้าว

ข้าวรัชมงคลพร้อมนำไปบริโภค

ข้าวรัชมงคล พระราชดำริเพื่อช่วยเหลือชาวนา ทางเลือกในการพัฒนาการปลูกและผลิตข้าวคุณภาพเพื่อผู้บริโภค เกษตรกรหรือชาวนาสามารถยกระดับรายได้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในแบบวิถีพอเพียงที่มีความมั่นคง

สอบถามเพิ่มเติมที่ คุณญาดาวดี บัวเรือง บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด โทร. (094) 548-6948 หรือ คุณวิฑูรย์ ไทยถาวร หัวหน้ากลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมการข้าว ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. (02) 561-2070 หรือ โทร. (086) 414-1700 ก็ได้เช่นกันครับ

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_14472

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 17 มี.ค. 60
วันที่โพสต์: 17/03/2560 เวลา 09:35:47 ดูภาพสไลด์โชว์ ข้าวรัชมงคล พระราชดำริเพื่อช่วยเหลือชาวนา