ศรแดง ส่งเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน 35 ชนิด ตีตลาด ตอบโจทย์เกษตรกรมือใหม่

ศรแดง ส่งเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน 35 ชนิด ตีตลาด ตอบโจทย์เกษตรกรมือใหม่

จริงอยู่ที่ตลาดเมล็ดพันธุ์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ทั่วไป เป็นสิทธิ์การตัดสินใจของผู้ซื้อในการเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ ซึ่งอาจจะพิจารณาจากชนิดผักที่ปลูก บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ราคา บรรจุภัณฑ์ หรือด้วยการตัดสินใจอย่างไรก็ตาม แต่การตัดสินใจซื้อในท้ายที่สุดก็อยู่ที่ผู้ซื้อซึ่งจะนำไปปลูกนั่นเอง

ปี 2560 นี้ เป็นปีที่บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด หรือที่รู้จักกันติดปากในภาพของผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักตราศรแดง ครบรอบการก่อตั้ง 35 ปี การเติบโตของตลาดเมล็ดพันธุ์ของศรแดง จึงเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้สนใจ เข้าชมศูนย์วิจัยพันธุ์ผักพื้นบ้าน ซึ่งตั้งอยู่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ในครั้งนี้ การครบรอบ 35 ปี ไม่ใช่เป็นเพียงการบอกกล่าวให้เกษตรกรทราบว่า บริษัทยืนหยัดมายาวนานถึง 35 ปีเท่านั้น แต่เป็นการกระตุ้นบริษัทเองให้มุ่งมั่นพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพและคัดเลือกสายพันธุ์ให้ได้ผลผลิตตรงตามที่ตลาดต้องการ

คุณเบิร์ท แวน เดอร์ เฟลท์ซ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด เปิดเผยว่า เกษตรกรรายย่อยจำนวน 85-90 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผู้ผลิตผักออกสู่ตลาดชุมชน จึงถือว่าเกษตรกรรายย่อยมีความสำคัญ ถึงแม้ว่าจะปลูกในพื้นที่เพียง 1 ไร่ ต่อราย ก็ควรได้รับเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ ดังนั้น เป้าหมายของศรแดงที่เคยตั้งไว้ว่าจะให้การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ปล่อยผ่านไม่ได้ ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ให้ติดอันดับ 1 ใน 10 เมล็ดพันธุ์ที่ดีของโลก และการพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ให้ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ก็ไม่ได้สำคัญมากไปกว่าการพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ให้ตรงความต้องการของตลาด และให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่ดี

คุณวิชัย เหล่าเจริญพรกุล

ด้าน คุณวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ให้ข้อมูลว่า การเติบโตของธุรกิจเมล็ดพันธุ์ผักของประเทศไทยในปี 2560 นี้ มีมูลค่าตลาดถึง 2,100 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน ตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ หรือเฉลี่ยเติบโต 3 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี เนื่องจากความต้องการบริโภคผักของตลาด ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 นี้ บริษัทแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรปลูกผักมืออาชีพหรือเพื่อการค้า กลุ่มเกษตรกรขนาดย่อม และกลุ่มปลูกผักรับประทานในครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมาสัดส่วนกลุ่มเกษตรกรปลูกผักมืออาชีพหรือเพื่อการค้า มีสัดส่วนยอดขายมากที่สุด ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ในปี 2560 จึงพุ่งเป้ามาที่เกษตรกรรายย่อยและกลุ่มปลูกผักรับประทานในครัวเรือนให้มากขึ้น

เพราะเหตุนี้ ทำให้ศรแดงเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ Go Grow ซึ่งเป็นซองผลิตภัณฑ์แบบใหม่ มีอะลูมิเนียมฟอยล์ด้านใน ซึ่งเป็นตัวป้องกัน UV จากภายนอก ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมสำหรับเมล็ดพันธุ์ได้ ทำให้เมล็ดพันธุ์คงความสมบูรณ์ได้ยาวนานกว่าเดิม ทั้งยังมีรายละเอียดของวิธีการปลูก การให้ปุ๋ย การป้องกันโรคและแมลง อย่างง่ายไว้ที่ซอง ตอบโจทย์เกษตรกรรายย่อยและกลุ่มปลูกผักรับประทานในครัวเรือนได้อย่างดี

ศรแดง ส่งเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน 35 ชนิด ตีตลาด ตอบโจทย์เกษตรกรมือใหม่

ศรแดง ส่งเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน 35 ชนิด ตีตลาด ตอบโจทย์เกษตรกรมือใหม่

ศรแดง ส่งเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน 35 ชนิด ตีตลาด ตอบโจทย์เกษตรกรมือใหม่

แม้ว่าผู้บริหารของศรแดง จะออกมาให้ข้อมูลในเชิงการตลาดและกลยุทธ์ของการทำตลาดแล้ว แต่ประเด็นสำคัญของการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ในโอกาสครบรอบ 35 ปี ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะที่ผ่านมา คู่แข่งขันเมล็ดพันธุ์ในตลาดมีจำนวนมาก แต่การทำการตลาดแบบคิดต่างในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวที่น่าสนใจดีทีเดียว

การตลาดแบบคิดต่างของศรแดงในครั้งนี้ คือการเปิดตัวเมล็ดพันธุ์แบบใหม่ ที่จัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ผักพื้นบ้าน 35 ชนิด โดยกำหนดวางจำหน่ายแล้ว 17 ชนิด และจะทยอยเปิดตัวก่อนปลายปี 2560 จนครบ 35 ชนิด ตามที่ตั้งเป้าไว้

กระเจี๊ยบแดง

คุณวิชัย ตอบคำถามถึงการคัดเลือกพันธุ์ผักพื้นบ้าน 35 ชนิด ว่าต้องการให้คนไทยซึ่งยังคงมีกลุ่มผู้บริโภคผักพื้นบ้านอยู่ทั่วทุกภาคมีความมั่นใจได้ว่า ผักพื้นบ้านที่มีมานานและคนไทยยังคงนิยมบริโภค ยังคงมีอยู่ในตลาด ซึ่งที่ผ่านมาเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านที่เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เองเป็นพันธุ์ผสม ทำให้คุณภาพและอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนลดพื้นที่ปลูกผักพื้นบ้านลง นอกจากนี้ เมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านส่วนใหญ่หาซื้อตามท้องตลาดและอาจด้อยคุณภาพ จึงตั้งใจผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านที่มีคุณภาพที่ดีออกมา

ถั่วแปบสีม่วง

“เราเลือกชนิดเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านจากการปลูก ให้การปลูกยากเป็นเรื่องง่าย ทั้งยังต้องการอนุรักษ์สายพันธุ์ที่มีเอามาพัฒนาให้ได้ตามมาตรฐานของอีสท์ เวสท์ ซีด ซึ่งการพัฒนาเมล็ดพันธุ์นี้ ได้นำเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลมาใช้เป็นตัวช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ ช่วยลดระยะเวลาการจัดการและการปรับปรุงพันธุ์ จากเดิม 7-8 ปี เหลือเพียง 3-4 ปีเท่านั้น”

สำหรับเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านที่วางจำหน่ายแล้ว มีทั้งสิ้น 12 ชนิด ได้แก่ กะเพราเขียวกลิ่นไท แมงลักหอมไท ผักชีลาวหอมอุดร มะเขือพวงพวงมณี ผักโขมราชบุรี มะเขือเทศพวงชมพู โหระพาจัมโบ้ ผักกาดเขียวน้อยถิ่นไท กวางตุ้งดอกสองฝั่งโขง ถั่วพูกำแพงแสน ถั่วเขียวชัยนาท และผักขี้หูดล้านนา

มะเขือเทศฟักทอง

ในเดือนมิถุนายนที่จะถึง จะมีเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านจะวางจำหน่ายเพิ่มอีก 23 ชนิด ได้แก่ มะเขือเทศอีเป๋อ มะเขือเทศฟักทอง มะเขือเทศเชอร์รี่ พริกขี้หนูสวน พริกประดับ มะเขือจานม่วง มะเขือเปราะเขียว มะเขือเปราะม่วง ถั่วแปบม่วง ถั่วฝักยาวพุ่ม ถั่วฝักยาวม่วง ถั่วพูม่วง ถั่วแดงหลวง ฟักหอม น้ำเต้า แตงไทยผลอ่อน ฟักทองญี่ปุ่น กระเจี๊ยบแดง ผักโขมแดง ผักโขมเขียว ผักปลัง แตงกวา-ใบเตย และทานตะวันงอก

แตงกวา-ใบเตย

แตงกวา-ใบเตย เป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่ศรแดงนำมาพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ โดยนักปรับปรุงพันธุ์แตงกวา-ใบเตย ให้ข้อมูลว่า แตงกวา-ใบเตย ใช้เวลาในการพัฒนาพันธุ์โดยการผสม 4 ปี กลิ่นหอมของแตงกวาเป็นกลิ่นใบเตย ซึ่งไม่ได้หอมเฉพาะผล แต่หอมทั้งใบและดอก หากปลูกไว้เมื่อเดินไปใกล้จะหอมกลิ่นใบเตย หรือเมื่อรับประทานผลจะได้กลิ่นใบเตยขณะรับประทานด้วย ซึ่งการพัฒนาพันธุ์ได้พัฒนามาจากแตงร้านหอมพันธุ์พื้นเมืองที่มีความหอม และแตงกวา หลังการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ ได้แตงกวา-ใบเตย ที่มีรูปร่างเล็ก ติดผลดก ระยะเวลาติดผลเร็วขึ้น มีกลิ่นหอม หลังลงปลูกเพียง 38 วันก็สามารถเก็บผลผลิตได้ จากเดิมแตงกวาทั่วไป ต้องใช้ระยะเวลาปลูกถึง 45 วัน สามารถเก็บผลผลิตได้ทุกวัน นานถึง 30 วัน ปริมาณผลผลิต 2.5-3 กิโลกรัม ต่อต้น

บวบมินิ

บวบมินิ คุณเอกชัย อินชนบท นักปรับปรุงพันธุ์บวบมินิ เปิดเผยว่า บวบขนาดปกติ มีความยาว 25-30 เซนติเมตร ศรแดงได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ให้มีขนาดเล็กลง เนื่องจากบวบขนาดปกติ เป็นปัญหาของเกษตรกรในการทำค้างขนาดใหญ่ เมื่อมีพันธุ์บวบมินิ จะช่วยให้ทำค้างขนาดเล็กลงได้ ความสูงของค้างเพียง 1.8-2 เมตรก็เพียงพอ หรือถ้าไม่ต้องการต้นใหญ่ก็สามารถปลูกในกระถางได้เช่นเดียวกับผักชนิดอื่น เพราะพืชจะกระชับตัวเอง และสามารถตกแต่งทรงพุ่มให้สวยงาม เก็บผลผลิตง่ายได้ ซึ่งศรแดงใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์บวบมินินี้นานถึง 8 ปี

“ข้อแตกต่างระหว่างบวบปกติ กับบวบมินิ คือ การติดผลทุกข้อ ติดผลดก สามารถเก็บเกี่ยวได้ 3 ระยะ คือ ระยะผลอ่อน ระยะดอกตูม และระยะดอกบาน นอกจากนี้ ดอกของบวบมินิสามารถนำไปรับประทานได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสารเบต้าแคโรทีนให้กับร่างกายจากสีเหลืองของดอกบวบด้วย”

คุณเอกชัย อธิบายอีกว่า บวบมินิ จะให้ผลผลิตดกและให้ผลผลิตเร็ว เกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่ 38-40 วัน ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการนำไปรับประทาน และเก็บผลผลิตได้ทุกวัน หากเก็บไม่ทันก็สามารถปล่อยทิ้งให้เป็นบวบผลปกติได้ แต่ข้อดีของบวบมินิ เมื่อปล่อยให้ผลใหญ่เท่ากับผล บวบปกติคือ เนื้อแน่น อีกทั้งเหลี่ยมไม่บาง ทำให้ไม่เกิดการบอบช้ำที่ผิวจากการขนส่ง การปลูกและการดูแลเช่นเดียวกับพืชฤดูแล้งทั่วไป ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสามารถเก็บเกี่ยวได้นาน 30-45 วัน ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 4 กิโลกรัม ต่อต้น และให้ผลผลิตได้ทุกฤดู

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/featured/article_13605

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 6 มี.ค.60
วันที่โพสต์: 6/03/2560 เวลา 09:21:50 ดูภาพสไลด์โชว์ ศรแดง ส่งเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน 35 ชนิด ตีตลาด ตอบโจทย์เกษตรกรมือใหม่